Last updated: 3 ต.ค. 2562 | 837 จำนวนผู้เข้าชม |
ใครที่ผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นมาได้โดยหน้าใสไร้สิวถือว่ามีบุญมาก ๆ เพราะในช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การลองผิดลองถูกใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และวิธีดูแลรักษาความสะอาดที่อาจไม่ดีมากเพียงพอ ไหนจะกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อไคลบ่อย ๆ อีก
แต่ไม่ใช่ช่วงวัยรุ่นเท่านั้นที่ประสบปัญหา “สิว” เพราะในวัยผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยชราก็อาจยังพบปัญหาสิวได้อยู่เช่นกัน
ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว ทำไมยังมี “สิว” ได้อีก ?
สิวผู้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากกว่า 25 ขึ้นไป สาเหตุที่ทำให้เกิดไม่ได้แตกต่างไปจากสิววัยรุ่นมากนัก ได้แก่
น้ำมันที่ถูกผลิตออกมามากเกินไป
รูขุมขนอุดตันจากสิ่งสกปรกที่ทำความสะอาดไม่หมด รวมถึงเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ที่ไม่ได้ถูกกำจัดออกไปจากผิว
เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ
การอักเสบของผิว
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ก่อน-หลังมีรอบเดือน
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ระคายเคืองผิว เช่น แชมพู ครีมนวด สเปรย์ต่าง ๆ เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว มาส์ก
อาหาร เช่น ของมัน ของทอด ที่เป็นสาเหตุของอาการอักเสบในร่างกาย
แพ้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้บนผิวหน้า ตั้งแต่ส่วนผสมที่ทำให้ระคายเคืองเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงสารอันตรายต่อผิว เช่น สเตียรอยด์
จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวมีหลายประการ และผู้ใหญ่เองก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นสิวได้อยู่ หากดูแลรักษาความสะอาดของผิวไม่ดีพอ รวมถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมด้วย
ป้องกันสิวได้อย่างไร ?
ไม่ว่าจะเป็นสิววัยรุ่น หรือสิวผู้ใหญ่ สามารถป้องกันได้ ดังนี้
1.ไม่นอนหลับโดยมีเครื่องสำอางอยู่บนหน้า
2.เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุบนฉลากว่า “non-comedogenic,” “oil-free” หรือ “ไม่อุดตันรูขุมขน”
3.หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ทั้งบนใบหน้า และเส้นผม
4.รอยดำรอยแดงจากสิว ควรลดความเสี่ยงในการที่สีจะเข้มขึ้นด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 30+ PA +++ ขึ้นไป
5.ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันจากสัตว์สูง รวมถึงอาหารทอดต่าง ๆ เพื่อลดการอักเสบภายในร่างกายทั้งหมด รวมถึงลดการอักเสบของสิวด้วย
6.หากมีผิวแพ้ง่าย ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวแพ้ง่าย หรือทดสอบกับผิวในส่วนที่บอบบาง เช่น ผิวใต้ท้องแขน ขามข้อพับต่าง ๆ ก่อนใช้จริง 3-4 วัน
การรักษาสิวที่ถูกต้อง
1.งดการบีบ แกะ สิวเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการอักเสบมากยิ่งขึ้น และอาจทิ้งรอยดำจากสิวที่รักษาหายยากกว่าสิวเองเสียอีก
2.สามารถใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวได้ (หากทดสอบแล้วว่าไม่แพ้) เลือกแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ
3พยายามไม่รบกวนบริเวณที่เป็นสิวมากเกินไป และไม่ใช้นิ้วสัมผัสกับสิวโดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้สิวแย่ลง
4.งดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุของสิว
5.หากสิวที่เป็นอยู่อาการแย่ลง ไม่ดีขึ้น สามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีได้
18 ก.ค. 2563
20 ก.ค. 2563