ดื่มกาแฟอย่างไร? ให้เป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์คินสัน

Last updated: 11 Aug 2018  |  1454 Views  | 

ดื่มกาแฟอย่างไร? ให้เป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์คินสัน

วันนี้สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว

และโรคประจำของสังคมผู้สูงอายุทั่วโลกก็คือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer”s disease) ซึ่งเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดถึงร้อยละ 50-75 รองลงมาคือโรคพาร์คินสัน (Parkinson”s disease)

ในสังคมประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา คนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมีอัตราป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ร้อยละ 10 ในขณะที่สังคมไทยพบร้อยละ 3.4 น้องๆ อเมริกาเลยทีเดียว

และความชุกของโรคจะพบมากขึ้นในสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังจะพบเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปีหลังอายุ 65 ปีไปแล้ว เห็นได้จากสถิติอัตราเกิดโรคในผู้สูงอายุ 65-69 ปี พบผู้ป่วย 3 คนต่อ 1,000 คน อายุ 70-74 ปี พบ 6 คน ในขณะที่ อายุ 75-79 ปี พบ 9 คน ตามลำดับและพบผู้ป่วยหญิงมากกว่าชาย

ในหมู่คนไทยเราเรียกโรคนี้ง่ายๆ ว่า “โรคความจำเสื่อม” เพราะในระยะสุดท้ายของโรค ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำทั้งหมด ต่อมาจะสูญเสียการทำงานต่างๆ ของร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด

หลังจากความจำเสื่อมและสูญเสียความสามารถทางภาษาแล้ว ผู้ป่วยจะมีชีวิตโดยเฉลี่ย 10 ปี

แม้จะค้นพบโรคนี้มากว่า 100 ปี โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ อาลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค นอกจากพบว่ามีความผิดปกติของโครโมโซมและเป็นโรคที่สืบทอดทางพันธุกรรม

โรคนี้ยังไม่มีใครพบวิธีป้องกัน ทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ข่าวดีสำหรับผู้สูงอายุ มีการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เครื่องดื่มสมุนไพรใกล้ตัวที่ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ดีก็คือกาแฟถ้วยโปรดยามเช้าของทุกคนนั่นเอง เนื่องจากธุรกิจกาแฟแบรนด์ดังมีกำไรมหาศาล จึงมีทุนสนับสนุนงานวิจัยกาแฟว่ามีผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มอย่างไร

แน่นอนผลเสียต่อสุขภาพของผู้เสพติดกาแฟ คือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง การสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก เช่น การเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงสูงอายุ

ก่อนอื่นควรทำความรู้จักสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกและใช้บริโภคในบ้านเราเล็กน้อย แม้ทั่วโลกมีสายพันธุ์กาแฟมากกว่า 50 ชนิด แต่ที่นิยมปลูกในไทยมี 2 พันธุ์ คือ อราบิก้า (Coffea arabica L.) และ โรบัสต้า (Coffea robusta L.)

สายพันธุ์แรกนั้นชอบขึ้นบนดอยสูงทางภาคเหนือของไทย จุดเด่นคือมีกลิ่นหอมชวนลิ้มลอง และมีปริมาณกาเฟอีนต่ำ

ส่วนสายพันธุ์หลังนั้นชอบพื้นที่ราบทางภาคใต้ จุดเด่น คือ มีรสชาติเข้มและมีกาเฟอีนสูงเป็นสองเท่าของพันธุ์อราบิก้า

กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ธรรมชาติ พบได้ในเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง และโกโก้ เป็นต้น แต่เมล็ดกาแฟเป็นแหล่งของกาเฟอีนที่ใหญ่ที่สุด

ส่วนเมล็ดกาแฟจะมีกาเฟอีนมากหรือน้อย นอกจากขึ้นอยู่กับสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการคั่ว

เมล็ดกาแฟที่คั่วนานจนสีเข้มจะมีกาเฟอีนน้อยกว่าที่คั่วสุกแต่ใช้เวลาไม่นาน เพราะกาเฟอีนจะสลายไปในระหว่างการคั่วนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว น้ำกาแฟ 150 ซีซีจากเครื่องต้มทำกาแฟไม่มีกระดาษกรองจะมีกาเฟอีนสูงที่สุดถึง 115 มิลลิกรัม

ในขณะที่กาแฟกรองมีกาเฟอีน 80 ม.ก.

และกาแฟสำเร็จรูป 65 ม.ก. ตามลำดับ

เนื่องจากกาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมดังกล่าวแล้ว จึงมีการศึกษาทางระบาดวิทยาในต่างประเทศจำนวนมากเพื่อหาความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการดื่มกาแฟกับผลกระทบต่อสุขภาพ

เช่น ในฟินแลนด์มีการศึกษาวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้าระยะยาวที่เรียกว่า โคฮอร์ต (cohort study) ซึ่งเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวน 1,409 คนเริ่มต้นจากอายุเฉลี่ย 50 ปี เก็บข้อมูลไปข้างหน้า 21 ปี พบอาสาสมัครมีภาวะความจำเสื่อม 61 คน วินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 48 คน

ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟตั้งแต่มีอายุช่วงวัยกลางคนจนเข้าสู่วัยสูงอายุ มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มกาแฟ

โดยดื่มกาแฟ 3-5 ถ้วย/วัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคลดลงประมาณร้อยละ 65
ในขณะที่มีการศึกษาระยะยาวแบบโคฮอร์ตเป็นเวลา 10 ปีในสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงเกิดโรคพาร์คินสัน มีอาสาสมัครชายหญิงรวมถึง 135,916 คน พบว่าฤทธิ์ของกาเฟอีนมีผลทำให้ระดับสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ในสมองเพิ่มขึ้น

ทำให้สมองตื่นตัวป้องกันการเป็นโรคพาร์คินสันได้ทั้งในหญิงและชายโดยดื่มกาแฟวันละ 1-3 ถ้วย

ข้อพึงระวังสำหรับสตรีก็คือ ต้องไม่ดื่มกาแฟร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพราะไม่เกิดผลเชิงบวกกรณีการป้องกันโรคพาร์คินสันเลย
นอกจากนี้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงไม่ควรดื่มกาแฟเลยเพราะมีโทษมาก รวมถึงไม่ควรดื่มกาแฟร่วมกับการรับประทานอาหารและยาเสริมธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม หรือยาแก้ปวดแก้ไข้ สำหรับปริมาณการดื่มกาแฟไม่เติมน้ำตาลต่อวันไม่ควรเกิน 1-2 ถ้วย (ถ้วยละ 150 ซีซี มีกาเฟอีนเฉลี่ย 115 ม.ก./ถ้วย) และควรดื่มกาแฟสดแบบกรอง จึงจะเกิดประโยชน์ทางยาสูงสุด เพราะถ้าบริโภคมากกว่านี้หรือดื่มกาแฟชนิดอื่นจะเกิดโทษมากกว่าคุณ

ท่านผู้อยู่ในวัย 50 ต้นๆ ทุกเช้าควรดื่มกาแฟสดกรองเพียง 1 ถ้วยเป็นประจำ เพื่อเตรียมตัวใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นสุขปลอดพ้นจากภาวะระบบประสาทเสื่อมตราบเท่าอายุขัย

Cr.https://www.matichonweekly.com/lifestyle/article_17649

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy