Last updated: 16 ส.ค. 2563 | 662 จำนวนผู้เข้าชม |
เมล็ดทานตะวัน เป็นอีกหนึ่งธัญพืชเพื่อสุขภาพ ที่หลายคนนิยมรับประทาน ด้วยรสชาติกลมกล่อมกับเมล็ดที่แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้หลาย ๆ คนเมื่อเริ่มรับประทานทีไรเป็นต้องเคี้ยวเพลิน อร่อยจนหยุดไม่อยู่กันเลยทีเดียว นอกจากอร่อยแล้วเมล็ดทานตะวันยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย บทความนี้ Hello คุณหมอจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเมล็ดทานตะวันให้มากขึ้นกันค่ะ
ทำความรู้จัก "เมล็ดทานตะวัน"
เมล็ดทานตะวัน (Sunflower Seed) จัดว่าเป็นอีกหนึ่งธัญพืชยอดนิยมที่หลายคนนิยมนำมาทานเล่น เพราะนอกจากจะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุนานาชนิดแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ รวมไปถึงโรคหัวใจและโรคเบาหวานชนิดที่ 2
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเมล็ดทานตะวันจะอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงในการรับประทานเมล็ดทานตะวัน
ข้อมูลทางโภชนาการของเมล็ดทานตะวัน
เมล็ดทานตะวันนั้นอุดมไปสารอาหารที่ดีต่อร่างกายมากมาย หากคุณรับประทานเมล็ดทานตะวันอบในปริมาณ 1 ออนซ์ (30 กรัม หรือ 1/4 ถ้วย) คุณจะได้รับสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
-พลังงาน 163 แคลอรี่
-ไขมันรวม 14 กรัม
-โปรตีน 5.5 กรัม
-คาร์โบไฮเดรต 6.5 กรัม
-ไฟเบอร์ 3 กรัม
-วิตามินอี 37% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-วิตามินบี 3 10% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-วิตามินบี 5 20 % ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-วิตามินบี 6 11% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-สังกะสี 10% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-แมงกานีส 30% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-ซีลีเนียม 32% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-ทองแดง 26% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-เหล็ก 6% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-แมกนีเซียม 9% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
-โฟเลต 17% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน
5 ประโยชน์จากเมล็ดทานตะวัน
1.บำรุงหัวใจ
แมกนีเซียมในเมล็ดทานตะวันช่วยลดระดับความดันโลหิต จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ นอกจากนี้เมล็ดทานตะวันยังอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวโดยเฉพาะ กรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) ที่ช่วยขยายหลอดเลือด ต่อสู้กับโรคหัวใจ
2.โรคเบาหวาน
จากการศึกษาและการทดลองบางชิ้นที่ให้ข้อมูลว่า เมล็ดทานตะวันมีสรรพคุณในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่อย่างไรยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
นอกเหนือจากนี้แล้วยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ที่รับประทานเมล็ดทานตะวันปริมาณ 1 ออนซ์ (30 กรัม) ร่วมกับมื้ออาหารเพื่อสุขภาพเป็นประจำทุกวัน พบว่าอาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร (Fasting Blood Sugar) ลดลงประมาณ 10% ในระยะเวลาหกเดือน เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว
3.ลดการอักเสบ
เมล็ดทานตะวันมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ลดการอักเสบเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด
4.รักษาโรคทั่วไป
ปัจจุบันเมล็ดทานตะวันได้ถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากมาย โดยนำน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดทานตะวัน มาใช้ในการรักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาขับเสมหะ รักษาโรคหลอดลม หรือใช้ทาเพื่อรักษาโรคผิวหนังต่างๆ
5.รักษาโรคบิด
รู้หรือไม่ว่า การรับประทานเมล็ดทานตะวันนั้นสามารถรักษาโรคบิดได้ ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสียอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
ข้อระวังในการบริโภค
ถึงแม้ว่าเมล็ดทานตะวันจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยเฉพาะแคดเมียม (Cadmium) โลหะหนักชนิดนี้ที่อยู่ในเมล็ดทานตะวัน อาจเป็นอันตรายต่อไตของคุณ