Last updated: 16 เม.ย 2563 | 916 จำนวนผู้เข้าชม |
เข้ารับการรักษาตัวเป็นเคสแรกๆ มานานนับเดือน สำหรับคู่สามีภรรยาคนดัง แมทธิว ดีน และ ลิเดีย-ศรัณย์รัชต์ ดีน แต่ถึงขณะนี้ทั้งคู่ก็ยังไม่หายขาดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ทั้งคู่ได้ย้ายมารักษาตัวในห้องเดียวกัน โดยแพทย์แจ้งว่า เนื่องจากทั้งคู่มีเชื้อตัวเดียวกัน และเริ่มมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถรักษาอยู่ในห้องเดียวกันโดยไม่ส่งเชื้อกลับไปกลับมาให้อีกฝ่ายได้อย่างแน่นอน
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก หมอเวร ได้ตอบคำถามไขข้อสงสัย ว่าทำไม แมทธิว และ ลิเดีย ที่รักษาตัวมานานแล้วแต่กลับยังไม่หายดี แะตรวจพบเชื้ออยู่ ในขณะที่ผู้ป่วยหลายคนที่ติดเชื้อทีหลัง ตรวจเจอทีหลัง หายดีกลับบ้านไปหลายรายแล้ว
"หลายคนสงสัยเกี่ยวกับอาการของคู่รักดาราที่ได้รับเชื้อ COVID-19 เข้ารักษาตัวมาเกือบเดือนนึงแล้ว อีกทั้งเจ้าตัวบอกว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่ทำไมยังตรวจ PCR แล้วถึงเจอเชื้ออยู่ดี หรือว่าเชื้อจากสนามมวยมันอึดกว่าปกติงี้เหรอ?
คืองี้นะ การตรวจแบบ PCR เนี่ย เป็นการตรวจที่มีความไวสูงมาก เจอเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในสารคัดหลั่งแค่ปริมาณนิดเดียวก็สามารถตรวจเจอแล้ว แถมบางครั้งไอ้เจ้าเชื้อที่ตรวจเจอเนี่ย บอกไม่ได้ด้วยนะ ว่าเจอตัวที่มันเป็นๆอยู่ หรือเจอตัวที่ตายแล้ว
“มันบอกได้แค่ว่า ตรวจเจอเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายเราเท่านั้น”
นึกภาพว่า PCR คือเซลล์ขายรถคนนึงที่ขยันมาก และดูเป็นคนซื่อๆ ประหนึ่งคนชื่อบอย ส่วนเต็นท์รถในสต็อกของร้านก็คือร่างกายของเราแทนสมมุติวันนึงเราสั่งให้ PCR ไปเช็กว่า ในลานจอดยังมีรถโตโยต้าเหลืออยู่บ้างไหม? ด้วยความที่บอย เอ๊ย ด้วยความที่ PCR เป็นคนซื่อๆ เห็นโตโยต้าจอดอยู่คันนึง ก็รีบวิ่งมารายงานบอสเลยว่าเจอรถแล้ว ทั้งๆ ที่รถคันนั้นเป็นรถที่ใช้งานได้ หรือจริงๆ แล้วเป็นแค่ซากรถที่จอดตายเอาไว้เฉยๆ
ฉะนั้นแทนที่การตรวจ PCR จะไปจับมันทั้งตัว ก็จะเอาแค่ส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่าคือไวรัสตัวนี้แล้วเอาผลมาบอกเราอีกทีซึ่งจริงๆ มันอาจเป็นแค่ “ซากเชื้อ COVID-19” ที่ตายแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อให้ใครแล้วก็ได้ ฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้สำหรับคนที่ติดเชื้อบางคน เข้ารับการรักษาเป็นหลายสัปดาห์ เชื้อ COVID-19 ก็โดนทั้งภูมิคุ้มกันและยาต้านรุมยำซะจนเหลือแต่ซากแล้ว แต่พอตรวจ PCR ทีไร ก็ยังเจอผลเป็นบวกอยู่นั่นเอง
ถ้าอยากรู้ชัวร์ๆ ว่าเชื้อที่ยังตรวจ PCR เจอในร่างกายมันยังแพร่กระจายต่อได้ไหม อันนี้ก็ต้องลองเอาไปเพาะเชื้อดูอีกที แล้วก็ไม่ได้เพาะกันง่ายๆ นะ ต้องเอาไปเพาะบนเซลล์ที่มีชีวิตด้วยนะ ไม่ได้วางบนทิชชู่เอาน้ำรดแล้วมันจะเติบโตง่ายเหมือนถั่วงอกหรอกนะ ซึ่งตรงนี้ใช้ขั้นตอนที่วุ่นวาย รวมถึงมีต้นทุนที่แพงมากด้วย ถ้ามานั่งเทสให้ทีละคนเจ้าหน้าที่ไม่ต้องหลับต้องนอนกันพอดี ฉะนั้นวิธีนี้ส่วนใหญ่มันเหมาะกับการทำวิจัยมากกว่า ไม่ได้ใช้ในการตรวจรักษาหรอกนะ
ดังนั้นแนวทางการรักษาสำหรับคนติดเชื้อที่มีอาการไม่มากเนี่ย เค้าจึงให้กักตัวในโรงพยาบาลสัก 14 วันก่อน ถ้าเห็นว่าอาการดีขึ้นและไม่มีอาการแทรกซ้อนแล้ว แพทย์ก็จะอนุญาตให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผลตรวจเชื้อเป็นลบ รวมถึงยังบังคับให้ใส่หน้ากาก รวมถึงกินอาหารแยกส่วนตัวต่อไปอีก 2-4 สัปดาห์ เพื่อความแน่ใจที่ว่าหากมีเชื้อหลงเหลือในร่างกายแม้จะเป็นปริมาณน้อยนิดก็จะไม่เล็ดลอดไปแพร่ใส่ให้คนอื่นอีกนั่นเอง แต่ส่วนใหญ่ที่หมอปล่อยกลับบ้านก็มักจะหายดีแล้วทั้งนั้นแหละนะ
อันนี้อยากให้คนรอบข้างสบายใจได้ส่วนเรื่องคนที่หายดีแล้ว ทำไมยังกลับมาเป็น COVID-19 ได้อีก หรือทำไมบางคนหายดีแล้วถึงเอาพลาสม่าไปรักษาผู้ป่วยได้ อันนี้ถ้าสนใจเดี๋ยวมาเล่าให้ฟังรอบหน้านะ รอบนี้ยาวเหยียดแล้ว ขอติดไว้ก่อนเหมือนเดิมนะ"