Last updated: 2 เม.ย 2563 | 672 จำนวนผู้เข้าชม |
อาจมีคนสงสัยอยู่บ้างว่าที่ให้คนที่มีความเสี่ยงไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) มีวิธีการตรวจอย่างไรบ้าง
นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1.การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส (RT-pcr)
ปัจจุบันประเทศไทยใช้วิธีนี้ และองค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ วิธี RT-pcr เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสปริมาณน้อยๆ ในรูปแบบของสารพันธุกรรม ดังนั้นไม่ว่าจะเชื้อเป็น หรือเชื้อตาย ตรวจจับได้หมดจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่างของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉับโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังสามารถผลิตขึ้นชุดตรวจเองได้ด้วย
2.การใช้ชุดตรวจภูมิคุ้มกัน หรือแรพพิด เทสต์ (Rapid test)
การตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test ทราบผลใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ดังนั้น การใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้โดยปกติธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากมีอาการประมาณ 5-7 วัน
อย่างไรก็ตาม น้ำยาตรวจนี้ อย.อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่อนุญาตจำหน่ายทั่วไป ประชาชนอย่าซื้อมาตรวจเอง เพราะมีความยุ่งยากในการแปลผล และสรุปผล ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น
3.การตรวจหาแอนติเจน (Antigrn) หรือ RT-LAMP
การตรวจด้วยวิธี RT-LAMP เหมือนการตรวจแบบมาตรฐานแต่มีความเร็วขึ้น ความแม่นยำอาจไม่สูงเท่าวิธีอื่น แต่จะสามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยได้มากขึ้น และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการมากที่สุด โดยในขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ในการพัฒนาชุดตรวจหาแอนติเจนเพื่อใช้ในประเทศไทย
ย้ำ! ผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงติดโควิด-19 ตรวจฟรี
นพ.โอภาส ชี้แจงว่า ขณะนี้เครือข่ายห้องปฏิบัติการ (แล็บ) มี 60 แห่ง และมีน้ำยาสำรองกว่า 100,000 ชุด และผู้ที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรครับการตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และขณะนี้สถานพยาบาลเอกชนมีความสนใจที่จะนำเข้าชุดแรพพิด เทสต์ ที่จะใช้หาตรวจเชื้อไวรัสในร่างกายหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 10 วัน เข้ามาใช้ในประเทศไทย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้